ความพึงพอใจในการปฏิบัติงานของบุคลากรสำนักบรรณสารการพัฒนา สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์

  • กรัณฑ์รัตน์ ประเสริฐธนากุล สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์
Keywords: ความพึงพอใจในการทำงาน, ห้องสมุดสถาบันอุดมศึกษา, บุคลากรห้องสมุด

Abstract

การศึกษาครั้งนี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อศึกษาความพึงพอใจในการปฏิบัติงานของบุคลากรสำนักบรรณสารการพัฒนา สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ เปรียบเทียบความพึงพอใจในการปฏิบัติงาน โดยจําแนกตาม ตัวแปรประเภทบุคลากร สถานภาพทางราชการ วุฒิการศึกษา ประเภทของงาน และประสบการณ์ในการทำงาน รวมทั้งศึกษาข้อเสนอแนะแนวทางที่จะส่งผลให้เกิดความพึงพอใจในการปฏิบัติงานของบุคลากรสำนักบรรณสารการพัฒนา ตลอดจนศึกษาอันดับความสำคัญของปัจจัยที่ส่งผลต่อความพึงพอใจในการปฏิบัติงานโดยใช้ทฤษฎีของเฮอร์ซเบอร์กในการกำหนดกรอบแนวคิดการวิจัย และใช้แบบสอบถามแบบมาตรประมาณค่า 5 ระดับ ตามวิธีของลิเคิร์ตเป็นเครื่องมือในการเก็บรวบรวมข้อมูลจากบุคลากรสำนักบรรณสารการพัฒนา จำนวน 58 คน สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล คือ ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน t-test และ F-test โดยใช้โปรแกรมสําเร็จรูป SPSS/PC+(Statistical Package for the Social Sciences/Personal Computer Plus)

ผลการวิจัยพบว่า บุคลากรสำนักบรรณสารการพัฒนา สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ มีความพึงพอใจในการปฏิบัติงานโดยรวมอยู่ในระดับมาก เมื่อพิจารณาเป็นรายด้าน พบว่าทุกด้านมีความพึงพอใจอยู่ในระดับมากเช่นกัน โดยมีความพึงพอใจสูงสุดในด้านความสำเร็จ และมีความพึงพอใจต่ำสุดในด้านนโยบายและการบริหาร เมื่อเปรียบเทียบตามตัวแปรประเภทบุคลากร สถานภาพทางราชการ วุฒิการศึกษา ประเภทของงาน และประสบการณ์ในการทำงาน พบว่าบุคลากรสำนักบรรณสารการพัฒนา สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ มีความพึงพอใจในการปฏิบัติงานโดยรวมไม่แตกต่างกันทุกตัวแปร และมีความพึงพอใจในการปฏิบัติงานต่อปัจจัยต่าง ๆ ทั้ง 10 ปัจจัยเรียงตามอันดับความสำคัญ ดังนี้ 1) ความสำเร็จ 2) ความรับผิดชอบ 3) ลักษณะงาน 4) ความก้าวหน้า 5) การบังคับบัญชา 6) ความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล 7) การได้รับความยอมรับนับถือ8) สภาพแวดล้อมในการปฏิบัติงาน 9) สิ่งตอบแทน และ 10) นโยบายและการบริหาร

Published
2020-06-27